หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ประเพณีสืบชะตาแม่น้ำคำ



ฝายผาม้า แบ่งแม่น้ำทองคำ หล่อเลี้ยง แอ่งลุ่มน้ำคำ
 
ประเพณีสืบชะตาแม่น้ำคำ  อำเภอแม่จัน  จังหวัดเชียงราย

ประวัติความเป็นมา
ในสมัยโบราณจากการสังเกตชาวบ้านเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติในเรื่องของน้ำ ได้เกิดความเชื่อจากการสังเกตว่าในทุก ๆ 3 ปี จะเกิดความแห้งแล้ง 1 ปี ดังนั้นในปีใดที่เกิดความแห้งแล้งขึ้น ชาวบ้านก็จะรวมตัวกันจัดทำพิธีต่าง ๆ เช่น ฟังเทศนาธรรมเรื่องพญาค้างคาก(คางคก) พิธีตานก๋วยสลาก (สลากภัต) ทำพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ หรือประเพณีสืบชะตาแม่น้ำ ทั้งนี้ เพราะมีความเชื่อว่าถ้าหากประกอบพิธีอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ซึ่งประกอบไปด้วย รุกขเทวดา เจ้าป่าเจ้าเขา ก็จะดลบันดานทำให้อุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตาม ฤดูกาลสามารถนำไปใช้ในภาคการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
จากความเชื่อดังกล่าว กลุ่มผู้สูงอายุในตำบลแม่คำ จึงริเริ่มจัดให้มีประเพณีสืบชะตาแม่น้ำคำขึ้น เริ่มแรกได้จัดทำในปีที่เกิดความแห้งแล้งเท่านั้น โดยมีความเชื่อว่าเมื่อจัดพิธีนี้แล้วจะเกิดความอุดม  สมบูรณ์ของน้ำขึ้น และยังเป็นการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีพิธีกรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป ดังนั้น จึงมีความคิดที่จะจัดทำประเพณีสืบชะตาแม่น้ำคำ เป็นประจำทุกปี และในปี พ.. 2537 ทางเทศบาลตำบลสายน้ำคำ ได้เล็งเห็นความสำคัญของประเพณีสืบชะตาแม่น้ำคำ จึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดพิธีดังกล่าวและได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยแม่น้ำคำในการดำรงชีวิตและประชาชน โดยทั่วไปได้เข้าร่วมประเพณีสืบชะตาแม่น้ำคำ พร้อมกันนี้ทางเทศบาลตำบลสายน้ำคำ ได้กำหนดให้ประเพณีสืบชะตาแม่น้ำคำเป็นงานประเพณีของเทศบาลตำบลสายน้ำคำ และในปัจจุบันประเพณีสืบชะตาแม่น้ำคำ ได้ถูกกำหนดไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายด้วย

ความเชื่อ ประเพณีสืบชะตาแม่น้ำคำเป็นประเพณีที่เกิดจากความเชื่อของชาวล้านนาที่มีการถ่ายทอดกันมายาวนานโดยเป็นการถ่ายทอดระบบความคิดพื้นบ้าน ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติที่มีการสืบทอดเรียนรู้ผ่านกันมาจากรุ่นหนึ่งมาสู่อีกรุ่นหนึ่งโดยชาวล้านนามีความเชื่อที่เกี่ยวกับอำนาจความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ซึ่งประชาชนเชื่อว่าเมื่อได้กระทำตามประเพณีนี้แล้วจะทำให้แม่น้ำมีอายุยืนยาว และให้มีน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ เพราะตามประเพณีจะต้องทำการเช่น ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เช่น เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าที่ขุนน้ำ เทวดาเพื่อประทานน้ำมาให้ เพื่อจะได้ไม่เกิดความแห้งแล้ง สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างมั่นใจ 
 

พิธีกรรม มีการประกอบพิธีต่างๆ ทั้งของชาวไทยล้านนาและของชาวไทยภูเขา (พิธีผีในส่วนพิธีของชาวไทยล้านนาจะเริ่มต้นด้วยการบนบานเจ้าที่เจ้าทาง ก่อนลงมือเตรียมงานจัดสถานที่ขออนุญาตและบอกกล่าวให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จากนั้นก่อนวันประกอบพิธีจะมีการอัญเชิญพระอุปคุตเพื่อขอให้ท่านได้มาคุ้มครองงานพิธีสืบชะตาที่จัดขึ้นไม่ให้มีอุปสรรคใด ๆ ในวันงานเริ่มด้วยพิธีถวายอาหารแด่พระอุปคุตและพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่คือการบูชาจตุโลกบาลผู้รักษาทิศทั้งสี่ พิธีกล่าวปฏิญาณตน พิธีกล่าวคำสาปแช่ง พิธีฟ้อนบวงสรวงเจ้าที่ขุนน้ำ พิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยการกล่าวโองการเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์มาทำพิธีสืบชะตา พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ สวดสืบชะตา จากนั้นนำน้ำที่ผ่านการทำพิธีเทลงในแม่น้ำดังเดิมพร้อมทำพิธีปล่อยสัตว์น้ำ




อุปกรณ์ อุปกรณ์ที่ใช้เหมือนกันการสืบชะตาทั่วไปทุกอย่างเพียงแต่ความแตกต่างในเรื่องขนาดของอุปกรณ์บางอย่างซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ไม้ง่าม บันไดเงิน บันไดทอง ลวดเงินลวดทอง ต้องมีความยาว 9 ศอก (4.5 เมตร)
ขั้นตอนพิธีสืบชะตาแม่น้ำคำ  ก่อนวันทำพิธี 1 วัน ชาวบ้านในตำบลแม่คำ จำนวน  14 หมู่บ้าน จะร่วมกันจัดสถานที่และอุปกรณ์สำหรับการประกอบพิธีสืบชะตาแม่น้ำคำ ณ บริเวณฝายผาม้า บ้านหนองแหย่ง หมู่ที่ ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดพิธี โดยจะมีจัดทำซุ้มสืบชะตา จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับพิธีสงฆ์ จัดทำหอพระอุปคุต หอท้าว ทั้งสี่ ทำซุ้มประตูทางเข้าบริเวณงาน จัดทำซุ้มพิธีชนเผ่า จัดเวทีสำหรับเปิดงาน ทำสะพานตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ทำสะพานปล่อยปลา และตกแต่งสถานที่บริเวณพิธี ก่อนวันเริ่มงาน 1วัน ในตอนเย็นจะมีการทำพิธีแห่อัญเชิญพระอุปคุตมาคุ้มครองงานพิธีพระอุปคุตนี้ได้ชื่อว่า เป็นอรหันต์ที่อาศัยอยู่ในสะดือทะเล เป็นผู้ที่สามารถปราบพระยามารที่อาจมาทำลายพิธีต่าง ๆ ที่จะจัดขึ้นได้ในการอัญเชิญอุปคุตนั้น ชาวบ้านจะขบวนแห่ไปอัญเชิญพระอุปคุตไปที่แม่น้ำ แล้วให้ตัวแทนลงไปงมก้อนหินขึ้นมาแล้วถามคนที่รอบฝั่งว่า ใช่หรือไม่เมื่อคนบนฝั่งบอกว่าไม่ใช่ก็งมหาต่อไปอีกสองสามครั้ง จนคนบนฝั่งบอกว่าใช่แล้วก็เชิญก้อนหินที่สมมุติว่าเป็นอุปคุตไปใส่พานที่เตรียมไว้ จากนั้นก็พานกันแห่เพื่อนำไปไว้บนหออุปคุตที่สร้างคล้ายศาลเพียงตา ซึ่งจะตั้งไว้ที่บริเวณที่จัดพิธี มีกรวยดอกไม้ ธูป เทียน คนโทน้ำและสำรับอาหาร 1สำรับ และจะต้องถวายสำรับอาหารมื้อเช้าและเพล เมื่อเสร็จพิธีสืบชะตาแม่น้ำคำแล้วก็จะมีพิธีอัญเชิญอุปคุตกลับไปสู่แม่น้ำที่นำมานั้น
ในตอนเช้าของวันงานพิธี จะมีการประกอบพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ในบริเวณงาน ท้าวทั้งสี่ คือ การบูชาท้าวจตุโลกบาล ผู้รักษาทิศทั้งสี่ ตามตำนานทางศาสนาท้าวจตุโลกบาลเป็นเทพกามาวจรภูมิเป็นสวรรค์ชั้นแรกในจำนวน 7 ชั้น โดยการทำ
เครื่องสังเวยเทพ 6 องค์ คือ
          - พระอินทร์ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าท้าวจตุโลกบาล
          - ท้าวมหาราธตรฐ รักษาทิศตะวันออก เป็นราชาของคนธรรพ์        
          - ท้าววิรุฬหก รักษาทิศใต้ เป็นราชาธิบดีของกุมกัณฑ์                  
          - ท้าววิรูปักข์ รักษาทิศตะวันตก เป็นราชาของนาค                  
          - ท้าวเวศสุวัณณ์ รักษาทิศเหนือ เป็นราชาของยักษ์                   
          - นางธรณีเทวธิดา รักษาแผ่นดิน


เมื่อประชาชนเดินทางมาถึงยังสถานที่ทำพิธี ประชาชนทุกหมู่เหล่าที่เข้าร่วมทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำคำ ตั้งแถวตามตำบลและหน่วยงานเพื่อเริ่มประกอบพิธี โดยเริ่มจากประธานกรรมการจัดงานกล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานต่อประธานในพิธี เสร็จแล้วประธานในพิธีมอบคำกล่าวชลาลัยบูชา คำกล่าวสวดชุมนุมเทวดา คำปฏิญาณและคำสาปแช่งและปฏิทินการใช้น้ำให้กับประธานกรรมการจัดงาน  ต่อจากนั้นประธานกรรมการจัดงานอ่านคำกล่าวชลาลัยบูชาเพื่อบรรยายถึงความสำคัญของแม่น้ำคำที่มีต่อการดำรงชีวิต พร้อมกับบรรยายถึงสาเหตุทำให้แม่น้ำคำเสียหาย และเชิญชวนประชาชนได้ช่วยกันรักษาแม่น้ำคำ

จากเวิ้งทิพย์สุธาสวรรค์แห่งชั้นฟ้า          เอิบละอองอาบหล้าลงมาหลั่ง
เป็นสร้อยน้ำสายสรงซึ่งทรงพลัง            สร้างความหวังความชื่นความรื่นรมย์
เป็นเส้นสวยสายธารละหานเหิน             ชนได้เพลินอาบใช้กินสิ้นทุกข์ขม
เอื้อสิงสาลดาไม้ไพรอุดม                    ชุ่มโลกชมชุ่มฟ้าวนาลัย
แต่ฝูงคนบางหมู่เหี้ยมหาญ                  เขลาล้างผลาญน่าสังเวชอาเพศใหม่
ป่าจะเตียนน้ำจะแห้งเพราะแล้งน้ำใจ       วอนขอไว้ช่วยรักษาอย่าทำลาย
ขอนบน้อมวันทาคงคาสวรรค์                สืบสานฝันสร้างศรัทธาอย่าแหนงหน่าย
ไหลหล่อเลี้ยงสรรพชีวาอย่างเสื่อมคลาย    ไว้โลกวายพังภินท์ค่อยสิ้นชล.....


จากนั้น ประธานกรรมการจัดงานกล่าวบทสวดชุมชนเทวดา เพื่ออัญเชิญเทวดา จากนั้น ประธานกรรมการจัดงานจะนำประธานพิธีและผู้เข้าร่วมพิธีทุกคนกล่าวคำปฏิญาณตนที่จะดูแลรักษา แม่น้ำ และคำสาปแช่งต่อผู้ที่ทำลายแม่น้ำคำให้เสียหาย ดังนี้





สาธุ สาธุ โอกาสะ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ทั้งหญิงชายน้อยใหญ่ ขอกราบไหว้วันทา
องค์เทวาอารักษ์ ผู้พิทักษ์ขุนเขา เทพที่เนาแนวป่า เทพท่าน้ำลำธาร
เทพอภิบาลต้นไม้ ทั้งเทพไท้หินผา รุกขเทพาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ทรงฤทธิ์อนุภาพ
ขอทรงทราบ พิธีกรรม ประกอบทำในวันนี้ เพื่อเป็นที่ประจักษ์
เราจะรักษาป่าไม้ มิยอมให้ใครตัด ขอให้สัตย์ปฏิญาณ จะบำรุงลำธาร
ห้วยละหานต้นน้ำ ไม่รุกล้ำริมฝั่ง ไม่เสริมสั่งที่จะทิ้ง ขยะมูลฝอย
โยนลงลอยน้ำแม่ เป็นที่แพร่โรคร้าย เราหญิงชายทั้งหมู่ จะคอยอยู่รักษา
หากแม้นว่าไม่ปฏิบัติ ตามสัตย์ปฏิญาณนี้ ขอให้ชี้ผีป่าห่าเมือง ได้ขุ่นเคืองลงโทษ
ผีโขมดทั้งหลาย สาปฉิบหายตายสิ้น ขอด้าวดิ้นกลางป่า ขอตายห่ากลางน้ำ
สมดั่งคำสัจจริง หากชายหญิงผู้ใด มีน้ำใจรักป่า รักคงคาน้ำแม่
ขอมีแต่ความสุข ร่มเย็นทุกสมัย เทวาลัยอวยพร ยามสัญจรนอนพั

เมื่อเสร็จกล่าวเสร็จประธานในพิธีอ่านปฏิทินการใช้น้ำเพื่อเป็นการเปิดฤดูการใช้น้ำในปีนั้น ๆ
ปฏิทินน้ำลุ่มน้ำคำ

 
เดือนพื้นเมือง
เดือนตามปฏิทิน
การปฏิบัติและรายละเอียดการใช้น้ำ
4
5
6
มกราคม
กุมภาพันธ์
มีนาคม
ย่างเข้าสู่หน้าแล้ง ปริมาณน้ำมีน้อยเพียงพอแก่การใช้ บริโภคและปลูกพืชฤดูแล้ง ในนาหลังฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี เช่น ข้าวนาปรัง พืชผักต่างๆฯ ในเขตพื้นที่ฝายผาม้า 14,423 ไร่, ฝายกล้วยคำ 13,000 ไร่, ฝายเกาะไม้เรียว 750 ไร่, ฝายใบไผ่ 2,500 ไร่, ฝายป่าถ่อน 3,200 ไร่ ฝายร่องธาตุ 11,500 ไร่ รวม 45,373 ไร่
7
8
9
10
11
12
เมษายน
พฤษภาคม
มิถุนายน
กรกฎาคม
สิงหาคม
กันยายน
ทำความสะอาดขุดลอกลำเหมือง ซ่อมแซมฝายกั้นน้ำในเดือน 8,9 ปริมาณน้ำจะเพิ่มมากขั้น จะทำการตกกล้าซึ่งจะอยู่ในช่วงดำนาและจะมีปริมาณน้ำมากที่สุดช่วงเดือน 11,12 ซึ่งข้าวอยู่ในช่วงการเจริญเติบโต จำนวนพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ฝายผาม้า 30,000 ไร่ ฝายกล้วยคำ 28,000 ไร่ ฝายเกาไม้เรียว 1,500 ไร่ ฝายใบไม้ 2,500 ไร่ ฝายป่าถ่อน 6,500 ไร่ ฝายร่องธาตุ 20,000 ไร่ รวม 85,000 ไร่
เกี๋ยง
ยี่
สาม
ตุลาคม
พฤศจิกายน
ธันวาคม
หลังจากใช้น้ำเพื่อการเจริญเติบโตของต้นข้าวแล้ว ข้าวจะอยู่ในระยะสร้างรวงอ่อนจนถึงเมล็ดแก่ พร้อมเก็บเกี่ยวได้ เมื่อเสร็จแล้วทำการกั้นน้ำไว้ในการปลูกพืชฤดูแล้งต่อไป

จากนั้นประธานในพิธีกล่าวเปิดงานพิธีสืบชะตาแม่น้ำคำ และทำการลั่นฆ้องชัยจำนวน 3 ครั้ง ประชาชนที่เข้าร่วมพิธีตั้งขบวนเพื่อแห่บายศรี พร้องเสลี่ยงชัยไปยังท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ เมื่อขบวนถึงบริเวณท่าน้ำ ศักดิ์สิทธิ์ ปู่อาจารย์จะทำพิธี ขอน้ำต่อเทพยาดาผู้รักษาน้ำ โดยการถวายเครื่องสังเวยพร้อมพานดอกไม้ธูปเทียน และร่ายคาถาปลาช่อน และจากนั้นจะมีการรำบวงสรวงเทพยาดา รุกขเทวดาผู้รักษาป่าไม้และต้นน้ำโดยนางรำเสร็จแล้วนางรำจะมอบกระทงใบตองให้กับประธานเพื่อลอยลงในแม่น้ำ ประธานอ่านโองการเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ ดังนี้
ศรีสิทธิมงคล จงช่วยดลอำนวยชัย เจ้าป่าพนมไพร สถิตย์แท่นวิมานทอง
โปรดได้ประชุมช่วย และเอื้ออวยทุกสิ่งปอง พิธีตามครรลอง ข้าทั้งนั้นน้อมวันทา
ข้าขอน้อมจิตบูชา อัญเชิญพระคงคา ขึ้นสู่เสลี่ยงชัย แห่แหนประโคมขับ
กล่อมรับขวัญให้ สืบสายน้ำจันชลาลัย ยั่งยืนไปชั่วฟ้าดิน

จากนั้น ประธานในพิธีทำการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ใส่ขันที่วางบนเสลี่ยงเพื่อมอบให้กับตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำจากทุกตำบล จากนั้นตั้งขบวนแห่น้ำศักดิ์สิทธิ์ไปทำพิธีสืบชะตา ณ บริเวณทำพิธีสงฆ์หรือซุ้มสืบชะตา ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทำพิธีสวดสืบชะตาแม่น้ำคำเมื่อเสร็จแล้วตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำนำน้ำที่ทำพิธีสืบชะตาแล้วไปเทลงในแม่น้ำตามเดิม ประธานและแขกผู้มีเกียรติถวายไทยทาน พระสงฆ์อนุโมทนา จากนั้นประธานในพิธีทำการปล่อยสัตว์น้ำลงในแม่น้ำคำ และร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ทางคณะกรรมการจัดงานได้กำหนดขึ้นในแต่ละปีจนเสร็จพิธีในวันถัดมาจากการทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำคำ จะมีการทำความสะอาดพร้อมพัฒนาแม่น้ำคำของประชาชนและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ใช้ประโยชน์จากลำน้ำจันทุกหมู่บ้าน โดยการจัดเก็บขยะ กำจัดวัชพืชต่าง ๆ ในลำน้ำคำให้สะอาด

 
  

สไลต์ ประเพณีสืบชะตาแม่น้ำคำ ประจำปี53  
http://photopeach.com/album/15e4rvk




ฝายผาม้า ทางขึ้นไปยัง ถ้ำป่าอาชาทอง พระขี่ม้าบิณฑบาตร














































2 ความคิดเห็น: